ฟันผุ และรากฟันผุ
มักพบฟันผุได้มากที่บริเวณคอฟันและรากฟัน เนื่องจากมีการสูญเสียเหงือก และกระดูกรองรับรากฟันในผู้สูงอายุ ซึ่งหากมีภาวะปากแห้งร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุให้สูงขึ้น และหากรอยผุนั้นมีการลุกลามไปมาก ก็สามารถนำไปสู่การติดเชื้อภายในช่องปากได้เช่นกัน
เหงือกอักเสบ
อาการนี้มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์บนตัวฟัน ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ และสามารถพัฒนาไปสู่โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกที่รองรับฟันได้
ฟันสึก
อาการฟันสึกจากด้านบดเคี้ยวมักจะพบได้ในฟันกราม ที่เกิดขึ้นจากการขบเคี้ยวอาหารแข็ง หรือกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อย ๆ รวมไปถึงการใช้เฉพาะบริเวณนั้นเคี้ยวอาหารอย่างต่อเนื่อง ถ้าสึกมาก ๆ ก็อาจลึกถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตาย ตัวฟันหักได้
ปากแห้ง น้ำลายน้อย
เป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น ร่างกายผลิตน้ำลายได้น้อยลง ผลข้างเคียงจากการเป็นโรคเบาหวาน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยานอนหลับ หรือยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลทำให้การกินอาหาร การกลืนอาหาร แม้แต่การพูดจะเป็นไปด้วยความลำบาก และการที่ปากแห้งนี้เอง ก็จะทำให้เนื้อในปากแตกและง่ายต่อการติดเชื้อ เป็นเหตุให้สุขภาพโดยรวมของช่องปากเสื่อมลง
การสูญเสียฟัน
เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นอาการท้าย ๆ ของโรคในช่องปากต่าง ๆ เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน ส่งผลทำให้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการบูรณะฟัน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องถอนออกไป
ปัญหาจากการใส่ฟันปลอม
ในผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ที่ไม่พอดี จะทำให้เกิดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายในช่องปากได้ จากการที่ตัวฟันปลอมเสียดสีกับเหงือก ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาใช้งาน และอาจพบแผลบริเวณที่ใส่ฟันปลอมได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ปัญหาจะรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารในผู้สูงอายุ
แผลภายในช่องปาก
แผลในช่องปากของผู้สูงอายุ เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากการกระทบกระแทกจากฟันปลอม หรืออาหารที่แข็ง และขอบฟันที่คม รวมไปถึงเป็นแผลอักเสบในช่องปากที่มีสาเหตุจากภาวะอื่น ๆ เช่น แผลร้อนใน แผลติดเชื้อ หรือโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง เป็นต้น
มะเร็งช่องปาก
เป็นโรคที่สามารถพบได้โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้ในผู้ที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงชัดเจน โดยจะมีลักษณะเป็นรอยขาว รอยแดง ก้อนบวมหรือแผลเรื้อรังในช่องปาก ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งในผู้สูงอายุที่มีการพบแผลในช่องปากที่ไม่ยอมหายเอง ก็อาจจะเข้าข่ายโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ฟันล้ม ฟันเคลื่อน
เป็นอีกหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันไปแล้ว ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วไม่ทำฟันปลอมทดแทนฟันที่เสียไป ส่งผลทำให้ฟันข้างเคียงที่อยู่ข้างกับรูโหว่เหล่านั้นค่อย ๆ ล้มลงมายังบริเวณช่องว่าง จนอาจทำให้เกิดโรคปริทันต์ตามมาได้ เช่น เหงือกอักเสบ เหงือกบวม เป็นหนอง เป็นต้น
ภาวะกลืนผิดปกติในวัยสูงอายุ
เป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ และระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน ภาวะกลืนลำบาก เป็นภาวะที่เกิดจากอวัยวะที่ควบคุมการกลืนผิดปกติหรือทำงานบกพร่อง จนเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ